วันอาทิตย์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2552

สวนไผ่จีนเขียวเขาสมิง

สวนไผ่จีนเขียวเขาสมิง


Add a comment June 19th, 2009 NEWS

คนรักไผ่: ชมรมไผ่เศรษฐกิจไทย เยี่ยมสมาชิก สวนไผ่จีนเขียวเขาสมิง ที่ ศูนย์ฯ น่าน

สวัสดี ครับท่าน…พบกันอีกเช่นเคย ผู้ที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ แฟนประจำ และสมาชิกของนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านที่รักทุกท่านและรวมถึงสมาชิกชมรมไผ่เศรษฐกิจไทยทุกคน ฉบับที่ 455 ทางชมรมมีเรื่องราวของสมาชิกที่ปลูกไผ่จีนเขียวเขาสมิงมาเขียนให้ท่านได้ อ่านติดตาม เป็นเรื่องราวของคนชอบไผ่ อย่าง คุณสมศักดิ์ ก่ำเซ่ง ที่น้ำหนาว และในฉบับนี้จะขอนำท่านไปเที่ยวที่จังหวัดน่าน ไปดูซิครับว่าศูนย์ไผ่ที่น่านเขามีบริการเกษตรกรอย่างไร และทำไมผู้เขียนจึงต้องไปที่นั่น โดยเดินทางไปพร้อมกับอาจารย์วัชรินทร์ ดาบเงิน นักวิชาการของชมรมไผ่เศรษฐกิจไทย

เริ่มต้นจากการที่ผู้ เขียนมีความสนใจและปลูกไผ่เพื่อหาประสบการณ์มาเป็นระยะเวลา 8 ปีเต็ม จัดตั้งเป็นชมรมไผ่เศรษฐกิจไทย ดำเนินงานชมรมตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง หาข้อมูลเรื่องไผ่มาให้คำตอบกับผู้สนใจทั้งในและต่างประเทศ (เนื่องจากนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านมีชื่อในต่างประเทศด้วย โดยเฉพาะแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) เมื่อเดือนกุมภาพันธุ์ 2552 ได้รับข่าวสารประชาสัมพันธ์จากศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัด น่าน (พืชสวน) เป็นหน่วยงานกรมส่งเสริมการเกษตร เชิญชวนผู้สนใจเข้ารับการฝึกอาชีพ โครงการฝึกอาชีพการเกษตรเฉพาะด้าน ปี 2552 หลักสูตรการปลูกไผ่ผลิตลำไม้เพื่ออุตสาหกรรม มีกำหนด 2 วัน วัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้สนใจเข้ารับการอบรม แล้วนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้กับวิถีชีวิตและความถนัดของตนเอง เช่น ทราบชนิดของไผ่ การใช้ประโยชน์จากไผ่ การขยายพันธุ์ไผ่ การปลูก ดูแลรักษา การจัดการสวนไผ่ การผลิตลำไม้เพื่ออุตสาหกรรม การผลิตหน่อไม้นอกฤดู ทราบข้อมูลผู้ประกอบการเกี่ยวกับธุรกิจไม้ไผ่ สนใจเรื่องของไผ่และต้องการความรู้เพิ่ม จึงตัดสินใจสมัครเข้ารับการฝึกอาชีพ ได้เข้ารับการฝึกเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา จากความคิดเดิมๆ ที่มีอยู่ ก็ได้เพิ่มพูนมากกว่าสิ่งที่เราไม่เคยเห็น เคยรับรู้ ก็ได้พบเห็น
วิทยากรที่ให้ความรู้ก็มีประสบการณ์ ทำให้เรามองว่าอีกหลายๆ คนทั่วประเทศ น่าจะมีโอกาสไปเข้ารับการฝึกอาชีพบ้าง

การเดินทางของเรา เริ่มต้นที่เขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ผ่านจังหวัดพิษณุโลก จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดแพร่ เข้าสู่เมืองงาช้างดำ จังหวัดน่าน มุ่งหน้าไปตามถนนสายน่าน-ท่าวังผา-ทุ่งช้าง ประมาณหลักกิโลเมตร ที่ 17-18 ซ้ายมือจะเป็นที่ตั้งของศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดน่าน (พืชสวน) เลขที่ 152 หมู่ที่ 2 ตำบลบ่อ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน 55000 บรรยากาศสดชื่น เนื่องจากเป็นทะเลภูเขา มีแม่น้ำน่านไหลผ่านไปตามร่องเขา สลับด้วยป่าไม้เบญจพรรณ สวนป่าไม้ไผ่ สวนหย่อม พร้อมด้วยอาคารศูนย์ฝึกอบรม ขนาดบรรจุ 200 คน แปลงสาธิตพืชเมืองหนาว ที่ขาดไม่ได้คือ แปลงสวนไผ่นานาพันธุ์ที่ทางศูนย์ได้รวบรวมไว้เพื่อการศึกษาและอบรมเกษตรกร ผู้สนใจทั่วไป

ณ ที่นี้ ได้พบกับ อาจารย์ประเสริฐ แก้วอินัง นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ อาจารย์สมชาย ศิริมาตร นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร พร้อมด้วยทีมเจ้าหน้าที่ที่จัดการอบรมฝึกอาชีพ ให้การต้อนรับดีมาก เนื่องจากเราไปในฐานะผู้สนใจ พร้อมเข้ารับการอบรม

ใน วันแรกจะเป็นการแนะนำ เรื่องความสำคัญทางเศรษฐกิจทางเลือกอาชีพการปลูกไผ่และผลตอบแทน ลักษณะทั่วไปของไผ่ ชนิดและมาตรฐานของไผ่ที่ผลิตเพื่ออุตสาหกรรมต่างๆ ที่ตลาดต้องการ ซึ่งเป็นหน้าที่ของอาจารย์สมชาย ศิริมาตร ภาคบ่าย อาจารย์ประเสริฐ แก้วอินัง พาคณะผู้อบรมไปศึกษาดูงาน การผลิตไม้เส้น ไม้เสียบอาหาร ตะเกียบ ที่โรงงาน 2 โรงงาน ที่อำเภอเมือง และอำเภอเวียงสา ต่อวันที่สอง ด้วยเรื่องการปลูกและการจัดการแปลงไผ่ การขยายพันธุ์ไผ่ ศึกษาดูงานแปลงไผ่ ฝึกการขยายพันธุ์ไผ่ พร้อมพาชมแปลงเศรษฐกิจแบบพอเพียงภายในศูนย์

สิ่งที่ทางชมรมไผ่ เศรษฐกิจไทยให้ความสำคัญมากที่สุดคือ พันธุ์ไผ่ที่จะปลูกและการเลือกปลูกไผ่ให้ตรงกับความต้องการของตลาด ผนวกกับความชอบของตัวผู้ปลูกไผ่ ในการเข้ารับฟังคำบรรยายวันแรก ทำให้เราได้ทราบว่าไผ่ชนิดใด ทำอะไรได้บ้าง ตลาดหรือโรงงานหรือแหล่งใดต้องการไผ่ชนิดใด นี่ต่างหากที่ชมรมกำลังมองว่า หากหน่วยงานหรือชมรมมีการส่งเสริมการปลูกไผ่ คำตอบที่จะให้ผู้สนใจถามก็คือ ปลูกแล้วขายที่ใด คุ้มค่าหรือไม่หากสนใจจะปลูกไผ่ การมาอบรมเองในครั้งนี้เสมือนเป็นการเปิดหูเปิดตา เพื่อที่จะนำมาเผยแพร่แก่ผู้สนใจอาชีพการทำสวนไผ่ มีผู้สนใจสอบถามมา เราก็สามารถให้คำตอบได้

ไผ่ในเชิงอุตสาหกรรม มีหลายสายพันธุ์ แล้วแต่ว่าสายพันธุ์ใดจะมีตลาดและความต้องการ ผนวกกับความนิยมมากกว่ากัน บางท่านอาจจะชอบไผ่ขนาดลำเล็ก ปลูกเพื่อประดับบ้านสวน บางท่านต้องการไผ่กอใหญ่ ปลูกทำเป็นแปลง สวนขนาดใหญ่เพื่อส่งโรงงาน จริงๆ แล้วทางชมรมและศูนย์จะส่งเสริมให้ปลูกไผ่เพื่ออุตสาหกรรมมากกว่าที่จะแนะนำ ให้ปลูกไผ่เพื่อประดับบ้านสวน เพราะเนื่องจากว่าขณะนี้มีผู้ถูกเลิกจ้างงาน คนตกงาน แต่มีที่ดินของตนเอง (มรดก) หรือมีความสามารถในการเช่าที่ดิน ก็สามารถมาเลือกทำอาชีพการปลูกไผ่ได้

บางท่านถามชมรมไปว่า ระหว่างที่รอผลผลิตของไผ่จะทำอะไรเพิ่มเติมดี หากรักที่จะเป็นเกษตรกร ก็ควรจะเริ่มต้นอย่างนี้ครับ โดยเริ่มจากการสร้างสวนไผ่ขนาดเล็ก ประมาณ 1 ไร่ 100 ต้น ก่อน ที่ดินว่างระหว่างต้นไผ่ ปีแรกสามารถปลูกพืชล้มลุกได้ เช่น ผักต่างๆ เลี้ยงสัตว์เล็ก แม้แต่ทำบ่อปลาขนาดเล็กก็ได้ หรือจะเป็นโรงเรือนเพาะเห็ด เป็นเรือนเพาะชำไม้ดอกไม้ประดับ ถึงวันตลาดนัดใกล้บ้านก็นำผลผลิตที่ได้ไปจำหน่าย พูดถึงตลาดนัด ผู้เขียนเองก็ลองนำพันธุ์ไผ่ไปจำหน่ายก็ขายดีได้ ขายปลีกได้วันละ 3-5 ต้น ก็ขาย ได้เงิน 300-500 บาท ดีกว่าอยู่บ้านเฉยๆ หากมีพันธุ์ไม้อื่นๆ ขายร่วมด้วยก็ยึดเป็นอาชีพได้เลย (ขนาดรถเร่รับซื้อของเก่า ยังมีรายได้วันละพันเลย เราอาชีพเกษตรกรรมก็ทำได้ ดูอย่างพี่น้องแถวๆ สกลนคร เพาะชำกล้าผักยืนต้นขายซิครับ รายได้วันละหลายตังค์ครับ)

ชนิดพันธุ์ไผ่ที่ทางชมรมและศูนย์แนะนำมีหลายชนิดด้วยกัน หากเป็นไผ่ปลูกเพื่ออุตสาหกรรมควรปลูกจำพวก
1. ไผ่ซางนวล ใช้ในอุตสาหกรรมไม้ตะเกียบ ไม้เสียบอาหาร ไม้จิ้มฟัน มู่ลี่ เยื่อกระดาษ กระบอกเทียน งานจักสาน
2. ไผ่รวก ใช้ในการเลี้ยงหอยแมลงภู่ นั่งร้าน เรือนเพาะชำชั่วคราว รั้ว คอกสัตว์ บันได
3. ไผ่ข้าวหลาม ใช้งานจักสานทุกชนิด และทำข้าวหลาม
4. ไผ่ซางบ้าน ไผ่ซางหม่น ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์
5. ไผ่หก และไผ่ตงบ้าน ไผ่จีน ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ โครงสร้างที่ต้องการความแข็งแรง เช่น หลักนั่งร้าน แพเลี้ยงหอย เรือนเพาะชำ บ้าน ที่พัก รีสอร์ต

แต่ถ้าจะปลูกเพื่อการบริโภคหน่อ
1. ไผ่ซางหวาน
2. ไผ่เป๊าะ
3. ไผ่หม่าจู
4. ไผ่ตงเขียว
5. ไผ่บงหวาน
6. ไผ่จีน
7. ไผ่ตงศรีปราจีน
8. ไผ่เลี้ยง

ส่วนไผ่อเนกประสงค์ ที่ใช้ทั้งหน่อและลำต้น
1. ไผ่หก
2. ไผ่จีน
3. ไผ่บง
4. ไผ่เลี้ยง
5. ไผ่รวก

จัดไว้ 3 ประเภท ดังกล่าว ก็สามารถตัดสินใจหามาปลูกกันได้ บางชนิดไม่มีการขยายพันธุ์จำหน่าย อยากจะปลูกต้องเสาะแสวงหาปลูกเองครับ

เนื่อง จากการไปอบรมอาชีพที่ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดน่าน (พืชสวน) ไปในนามของสำนักงานเกษตรอำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานสังกัดกรมส่งเสริมการเกษตร อำเภอเขาค้อ จึงขอร่วมเป็นศูนย์ส่งเสริมอาชีพการปลูกไผ่เขาค้อจังหวัดเพชรบูรณ์ เท่ากับว่าศูนย์น่านมีสาขาที่เพชรบูรณ์ (เมื่อต้นปี 2551 อาจารย์ทรงยศ พุ่มทับทิม ได้ขอใช้พื้นที่ดินว่างเปล่าของสำนักงานเกษตรอำเภอเขาค้อ ปรับปรุงและสร้างเป็นสวนไผ่และไม้ผล พืชผัก ขนาดพื้นที่ ประมาณ 9 ไร่ และจัดเป็นสวนสาธิต เรียกว่า ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน ใช้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ในพื้นที่อำเภอเขาค้อและใกล้เคียง รวมทั้งท่านที่สนใจ ที่เดินทางไปเที่ยวบนเขาค้อ) และทางศูนย์ได้มอบพันธุ์ไผ่ซาง ไผ่รวกน่าน ให้ผู้เข้ารับการอบรมติดไม้ติดมือกลับไปปลูกอีกด้วย การอบรมฟรีทุกรายการ ยกเว้นค่าพาหนะเดินทาง เนื่องจากทางราชการมีงบประมาณให้เฉพาะการอบรม อาหารและที่พัก เท่านี้ก็คุ้มค่ามากพอ

สำหรับจำนวนผู้เข้ารับ การอบรม ในปี 2552 ทางศูนย์แจ้งว่า มีโควต้าอบรมเพียง 200 ราย แต่ก็จะดูจากผู้สนใจ หากสมัครเข้ารับการอบรมมาก ก็จะเป็นข้อมูลให้ทางส่วนกลางพิจารณาเพิ่มงบประมาณจัดฝึกอบรมในปีต่อๆ ไป

ช่วง ที่ผ่านมา นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ได้ลงบทความเกี่ยวกับไผ่จีนเขียวเขาสมิง มีผู้สนใจสอบถามกันมากเกี่ยวกับ คุณบุญชู ที่ลงหน้าปก ขอเรียนว่าชมรมเคยแจ้งไปแล้วว่า คุณบุญชู เป็นสมาชิกเครือข่าย อยู่ที่อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด และเป็นสมาชิกชมรมที่มีความมุ่งมั่นที่จะผลิตต้นพันธุ์เพื่อบริการให้กับผู้ สนใจ ในปี 2552 มีต้นพันธุ์กว่าหมื่นต้น รับรองคุณภาพโดยชมรมไผ่เศรษฐกิจไทย ติดต่อ คุณบุญชู โทร. (086) 127-1256 ช่วยกันลดภาวะโลกร้อนด้วยการปลูกไผ่ นะคร้าบ…เจ้านาย…

สมัครสมาชิกทางชมรมไผ่เศรษฐกิจไทย ขอเรียนว่าไม่มีค่าสมัคร เพียงแต่ท่านสนใจ โทร. (089) 245-1411หรือ ส่งทาง E-mail ก็ได้

ฉบับ นี้คงต้องบอกผู้อ่านว่า ต้องติดตามต่อไป เพราะชมรมไผ่เศรษฐกิจไทย จะนำบทความและภาพจากการที่ได้เดินทางไปเยี่ยมแปลงเครือข่ายมาเขียนลงให้อ่าน จนกว่าจะครบทุกแปลง ส่วนเรื่องจัดสัมมนาสัญจรที่มีผู้ถามมา ทางชมรมกำลังวางแผนที่จะจัด ขอให้รออีกหน่อยนะครับ

ทรงยศ พุ่มทับทิม Songyotpu@hotmail.com

วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 21 ฉบับที่ 457

ไม่มีความคิดเห็น: